วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

รายงานวิจัย การพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ


บทที่ 1

บทนำ

---------------------

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

              พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2545 มาตรา 22 กำหนดว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ นอกจากนี้ในมาตร 23 กำหนดวาการจัดการศึกษาทั้งการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต้องให้ความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ซึ่งในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามมาตรา 24 (5)นั้นสถานศึกษาต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยายกาศ สื่อการเรียนและอำนวยความสะดวก เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ซึ่งครูผู้สอนหรือผู้จัดการเรียนรู้จำเป็นอย่างยิ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ตามมาตรา 25 ซึ่งกำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ทุกรูปแบบได้แก่ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์  สวนสาธารณะ และแหล่งเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2542: 5-14) และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 บัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการสนับสนุนการศึกษาให้บุคคลได้รับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างทั่วถึง และมีคุณภาพตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยให้บุคคลซึ่งได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปแล้วหรือไม่ก็ตาม มีสิทธิได้รับการศึกษาในรูปแบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้แล้วแต่กรณีทั้งนี้ตามกระบวนการและการดำเนินการที่ได้บัญญัติไว้พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจึงกำหนดนโยบายและจุดเป็นการดำเนินงาน ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในปีงบประมาณ 2554 เพื่อมุ่งพัฒนาคุณภาพประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียนให้ได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันตามแนวปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) เพื่อมุ่งสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สำนักงาน กศน.,2554:10-15)

              อย่างไรก็ตามจากผลการดำเนินงานตามนโยบายและจุดเน้นของสำนักงาน กศน.ในปีงบประมาณ 2554 ก็ยังพบว่า สถานศึกษาหลายแห่งในสังกัดสำนักงาน กศน.ทุกระดับยังไม่สามารถจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ได้ครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย จึงนำไปสู่การกำหนดนโยบายและจุดเน้นการดำเนินงานของสำนักงาน กศน.ในปีงบประมาณ 2555 ซึ่งเน้นย้ำนโยบายต่อเนื่อง เรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ดำเนินการอย่างหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งนโยบายด้านการศึกษาตามอัธยาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการอ่าน การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และนโยบายการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชนที่เน้นให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ของชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการขยายและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัยของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักงาน กศน. 2555:9-21)

              จากการกำหนดนโยบายและจุดเน้นด้านการศึกษาตามอัธยาศัยของสำนักงาน กศน.ดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นว่า สำนักงาน กศน.ได้ให้ความสำคัญกับ การศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมปัจจุบันที่พบว่าเกิดกระแสเรียกร้องให้มีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองให้มีคุณภาพ (ทวีป อภิสิทธิ์,2554:34)

              ด้วยเหตุนี้ สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ (สถาบัน กศน.ภาคเหนือ) ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนารูปแบบ แนวทาง หลักสูตร สื่อ และบุคลากรทีเกี่ยวข้อง ของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด (สำนักงาน กศน.จังหวัด) ในเขตภาคเหนือ และศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ (ศูนย์ กศน.อำเภอ) ในเขตภาคเหนือ จึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่ต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาในการจัดและให้บริการการเรียนรู้ของหน่วยจัดและความต้องการในการรับบริการการศึกษาตามอัธยาศัยของผู้เรียน กศน. ในเขตภาคเหนือ และพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพ ปัญหาและความต้องการของผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของการศึกษา

1.       ศึกษาสภาพ ปัญหาและความต้องการรับบริการการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ

2.       เพื่อพัฒนาแนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยที่สอดคล้องกับสภาพ ปัญหาและความต้องการของผู้เรียน กศน.

 

ขอบเขตของการศึกษา

1.       ขอบเขตด้านเนื้อหา

                          ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาถึงสภาพการจัดปัญหาอุปสรรคและความต้องการรับบริการการศึกษาตามอัธยาศัยของผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ ตลอดจนแนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของผู้เรียน กศน.

2.       ขอบเขตด้านประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย

                   2.1 ครู กศน.ตำบล                 จำนวน  2,000 คน

                   2.2 ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ      จำนวน    196 คน

                   การสุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการดังต่อไปนี้

                   (1) แบ่งประชากรออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง  ดังนี้

                  ภาคเหนือตอนบน  ประกอบด้วย  เชียงใหม่  แม่ฮ่องสอน  ลำพูน  ลำปาง  เชียงราย  พะเยา  น่าน  และแพร่

                  ภาคเหนือตอนล่าง  ประกอบด้วย อุทัยธานี  นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร  เพชรบูรณ์  พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์และตาก

                   (2) สุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มละ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา อุตรดิตถ์และพิษณุโลก

                   (3) สุ่มอำเภอจากจังหวัด จังหวัดละ 2 อำเภอ ได้แก่

                        s อำเภอเชียงดาวและอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

                        s อำเภอภูซาง และอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา

                        s อำเภอทองแสนขัน และอำเภอท่าปลา  จังหวัดอุตรดิตถ์        

                        s อำเภอบางกระทุ่ม และอำเภอวัดโบสถ์  จังหวัดพิษณุโลก

                   (4) เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรในแต่ละอำเภอ

              3. ขอบเขตด้านระยะเวลา

                        ดำเนินการระหว่างเดือนกรกฎาคม ตุลาคม 2555

 

วิธีการศึกษา

1.       ศึกษาข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2.   เก็บรวบรมข้อมูลโดยใช้แบบอบถามและแบบสัมภาษณ์ในประเด็นสภาพปัญหาและความต้องการรับบริการการศึกษาตามอัธยาศัยของผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ

3.       พัฒนาแนวทางในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ

4.   เก็บรวบรวมข้อมูลการศึกษาแนวทางในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ โดยใช้แบบสอบถามในประเด็นระดับความเห็นต่อการใช้แนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในปัจจุบันและที่ควรจะเป็นในอนาคต

5.       วิเคราะห์ข้อมูลและกำหนดประเด็นในการศึกษาเฉพาะด้าน

6.       เก็บรวบรวมข้อมูลเฉพาะด้านโดยการจัดสนทนากลุ่ม (Focus Group)

7.       สรุปแนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย สำหรับผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ

ประโยชน์ที่จะได้รับ

1.   ผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือได้รับการศึกษาตามอัธยาศัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของตนเองและชุมชน

2.   ครู กศน.ตำบลศูนย์ กศน.อำเภอและสำนักงาน กศน.จังหวัดได้ข้อมูลรูปแบบและแนวทางในการจัดการศึกษาและแนวทางการส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ตามอัธยาศัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและความต้องการของผู้เรียน กศน.

3.   สถาบัน กศน.ภาคเหนือ มีข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรสื่อการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาครูและบุคลากรทีเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยสำหรับผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ

4.       สำนักงาน กศน.มีข้อมูลในการกำหนดนโยบายและการจัดสรรทรัพยากรแก่หน่วยงานและสถานศึกษาที่เกี่ยวข้อง

 

นิยามศัพท์เฉพาะ

1.   ผู้เรียน กศน.ในเขตภาคเหนือ หมายถึง นักศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนที่เข้ารับบริการกิจกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษาในเขตภาคเหนือ ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

2.   ครู กศน.หมายถึง พนักงานราชการที่ได้รับการคัดเลือกและแต่งตั้งจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้ทำหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน.ตำบล

3.   กศน.ตำบลหมายถึง สถานศึกษาที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อบริการแก่ประชาชนซึ่งตั้งอยู่ในตำบลและศูนย์กลางจัดการเรียนรู้ให้กับชุมชน

4.   การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การจัดการศึกษาที่มุ้งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพรอม โอกาส ประสบการณ์ที่สอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้เรียน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เจตคติ ทักษะ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต  อาทิการจัดกิจกรรมในห้องสมุดประชาชน ศูนย์การเรียน  พิพิธภัณฑ์ เรียนรู้กับภูมิปัญญาท้องถิ่น การเสวนา การอภิปราย การเรียนรู้จากระบบคอมพิวเตอร์  เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น