วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การศึกษาไทยพร้อมหรือยังกับการใช้ e-learning นำมาสนับสนุนการจัดการศึกษา


ในการสร้างฐานความรู้โดยอาศัยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งในปัจจุบันนับได้ว่ามีความสำคัญ และมีความจำเป็นต่อวงการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกลไกในการจัดการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ที่จะตอบสนองให้ผู้เรียนและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างทั่วถึง มีความเสมอภาคและมีประสิทธิภาพที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะนำพาไปสู่การสร้างสังคมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันระบบการจัดการศึกษาแบบ e-learning ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกสำคัญอีกระบบหนึ่งที่มีคุณลักษณะในการสนับสนุน ส่งเสริม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างอิสระ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ได้อย่างรวดเร็วและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย นอกจากนี้ การจัดการศึกษารูปแบบ e-learning นี้ เป็นการสนองตอบแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ผู้เรียนสามารถเข้าถึง ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Self-Directed Learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ เป็นการเรียน รู้ในลักษณะผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลายสนองต่อกลไกการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน เรียนรู้ได้ทุกเวลา เข้าถึงสาระเนื้อหาได้ในทุกสถานที่ (anyone-anywhere-anytime learning) โดยใช้กลไกของเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในฐานะที่หน่วยงาน สถานศึกษา สังกัด กศน. มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมการจัดศึกษาให้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย แต่ในการใช้ช่องทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศ นำมาเป็นช่องทางในการจัด และส่งเสริมการศึกษา อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ดูเหมือนว่ายังทำได้ไม่เต็มที่นัก สถาบัน กศน.ภาคเหนือ ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ใช้ ICT เป็นฐาน เป็นช่องทาง การเรียนรู้ การฝึกอบรม มาโดยตลอด ทำให้เห็นว่าหลักสูตร เนื้อหาที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ การใช้งาน การเข้าถึงช่องทาง เส้นทางการศึกษา วิธีนี้ ก็ยังอยู่ในวงจำกัด

หากท่านมีแนวคิดในการจัดการศึกษา โดยใช้ช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหา วิธีการ การเข้าถึง หรือแนวคิดอื่นๆ ขอได้โปรดช่วย เสนอแนะ เพื่อที่ทางคณะทำงาน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้นำไปพัฒนา การจัดการศึกษาด้วยช่องทาง ICT ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น