วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา



สถานศึกษาส่วนใหญ่ในปัจจุบันแม้ว่าจะเริ่มให้ความสนใจต่อปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างจริงจัง แต่จากสภาพความเป็นจริง พบว่า ครู บุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักเรียน นักศึกษา ยังขาดความเข้าใจในสิทธิของการใช้ไฟล์ข้อมูลมัลติมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะการใช้โปรแกรมหรือตัวซอฟท์แวร์ที่มีอยู่ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองและของหน่วยงานสถานศึกษาที่มีอยู่ว่าถูกต้องลิขสิทธิ์หรือไม่ แม้ว่าในการจัดซื้อจัดหาในสถานศึกษาโดยเฉพาะ กศน.เองแล้ว ก็ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ มีการกำหนดให้ต้องติดตั้งระบบปฏิบัติการ MicroSoft Windows และโปรแกรมสำนักงาน MicroSoft Office ลิขสิทธิ์แล้วก็ตาม แต่สภาพจริงพบว่ามีการติดตั้งโปรแกรมอื่นๆเพิ่มเติมซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์(ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ) นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน หรือเข้าใจที่ผิดๆว่า การซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จากร้านค้าคู่สัญญาได้กระทำตามระเบียบของทางราชการแล้ว ทางราชการหรือสถานศึกษาย่อมมีสิทธิ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นการซื้อเฉพาะเครื่องเท่านั้น นอกจากจะระบุในเงื่อนไขว่าต้องมีระบบปฏิบัติการใด หรือติดตั้งโปรแกรมใด ลงในข้อตกลงแนบท้ายของการซื้อขายของหน่วยงานอย่างเด่นชัดด้วย

ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา
ตามกฎหมาย การรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ์ในโปรแกรม หรือซอฟท์แวร์ดังกล่าวจะตกเป็นของผู้ครอบครองการใช้งานในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นๆ รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาแห่งนั้นด้วย

ลิขสิทธิ์ในที่นี้ มีอยู่ 3 ลักษณะ อันได้แก่
1.
ลิขสิทธิ์ในตัวโปรแกรม หรือ ซอฟท์แวร์ ที่ติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สถานศึกษา

2.
ลิขสิทธิ์ของผลงานทางวิชาการของครู นักการศึกษา สถานศึกษาและบุคคลด้านอื่นๆ
3.
ลิขสิทธิ์ผลงานสื่อรูปแบบต่างๆที่นำเข้ามาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษา อาทิ ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีทัศน์ หรือมัลติมีเดียในรูปแบบต่างๆที่จุดประสงค์หลักผู้สร้าง ทำไว้เพื่อเชิงพาณิชย์

     ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษามีศักยภาพในการจัดการศึกษา มีห้องคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ มีโปรแกรมสำหรับใช้ ดำเนินกิจกรรมทางการศึกษาที่หลากหลาย แต่สถานศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่มีในโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์เหล่านั้น ซึ่งพบว่า โปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่มีอยู่นั้นเป็นโปรแกรมซอฟท์แวร์ผิดกฎหมาย ละเมิดลิขสิทธิ์แทบทั้งสิ้น นอกจากนี้การพัฒนาโครงข่ายของสถานศึกษา เพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน แต่ในเวลาเดียวกันก็พบว่า ช่องทางสำหรับการรับส่งสัญญาณ (Bandwidth) ของสถานศึกษานั้นอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยอาจเป็นแหล่งที่เก็บข้อมูล สื่อละเมิดสิทธิ์ และละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ (อาทิ ผลงานทางวิชาการต่างๆ ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีทัศน์ รูปภาพ ที่มีจุดประสงค์ในเชิงพาณิชย์ โปรแกรมหรือ ซอฟท์แวร์ต่างๆ) และอาจเป็นเครือข่ายออนไลน์ที่เป็นต้นทางในการป้อนหรือคัดลอกข้อมูลให้แก่ผู้ดาวน์โหลดทั่วโลก การใช้ไฟล์ร่วมกันอย่างผิดกฎหมาย (illegal file-sharing) อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อันเนื่องมาจากการได้รับไวรัสคอมพิวเตอร์ การจารกรรมข้อมูล และการคุกคามความปลอดภัยทางข้อมูลของสถานศึกษาด้วย
     การละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว ทั้งครูผู้สอน ผู้เรียน ของหน่วยงานสถานศึกษาต้องถูกไต่สวนทางกฎหมาย ซึ่งถือได้ว่าการกระทำความผิด รวมถึงหน่วยงาน สถานศึกษาอาจต้องร่วมรับผิดชอบจากผลของการกระทำดังกล่าวด้วยเช่นกัน
     ตามหลักการแล้วสถาบันการศึกษามีหน้าที่ในการสร้างทัศนคติของนักศึกษาที่มีต่อเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งก็มีขั้นตอนมากมายที่สถาบันการศึกษาสามารถทำได้และควรกระทำเพื่อเป็นการป้องกัน หรือเฝ้าระวังพฤติกรรมการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเกี่ยวโยงถึงปัญหาด้านความปลอดภัยต่อเครือข่าย รวมถึงการสื่อสารการทำความเข้าใจและให้ความรู้แก่นักศึกษา และบุคคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การเฝ้าระวังเพื่อให้สภาวะออนไลน์มีความปลอดภัย และการใช้เครื่องมือป้องกัน ทางเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
การวิเคราะห์ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา
    ปัจจัยหลักที่พบในหน่วยงานสถานศึกษา ส่วนใหญ่ มาจากการใช้งานซอฟท์แวร์เถื่อน การเข้าถึงข้อมูลออนไลน์แล้วนำไปแสวงหาผลประโยชน์ ทั้งส่วนตนเอง และทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นผลงานทางวิชาการ สื่อมัลติมีเดีย จำพวกเพลง วิดีทัศน์ ที่มีผู้นำมาวางไว้บนเครือข่าย ปัญหาเหล่านี้มาจาก ขาดงบประมาณด้านการซื้อซอฟท์แวร์ของสถานศึกษา ที่สำคัญคือความเข้าใจในด้านถือสิทธิ์การครอบครอง ขาดความรู้ด้านสิทธิของโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ต่างๆ หรือสิทธิของการใช้สื่อมัลติมีเดีย เพราะผู้ใช้ในหน่วยงาน สถานศึกษา ต่างไม่ได้รับรู้ว่า โปรแกรมการใช้งานที่มีอยู่ในเครื่องของหน่วยงานสถานศึกษานั้นถูกกฎหมายหรือไม่ สถานศึกษาบางแห่งหรือผู้ใช้บางรายไม่เข้าใจถึงสิทธิการครอบครองของซอฟท์แวร์ แม้จะซื้อโปรแกรมที่ถูกต้องตามกฎหมายมาแล้วไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิ์ใช้ได้มากกว่าหนึ่งเครื่อง ที่สำคัญเป็นความเคยชินในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องต่างเข้าใจว่า เมื่อซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะได้โปรแกรมต่างๆ ติดมาด้วย ดังนั้น หน่วยงาน สถานศึกษา จำเป็นต้องมีการให้ความรู้ และให้เกิดการตระหนักของการใช้งานคอมพิวเตอร์ รวมถึงสิทธิต่างๆที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องรับทราบ
แนวทางการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสถานศึกษา
    หน่วยงานทางการศึกษา บุคลากรในองค์กร ต้องร่วมกันศึกษา วางแผน และดำเนินการ
1. จัดแผนการพัฒนา การปรับปรุง การใช้โปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ลิขสิทธิ์โดยการสำรวจความต้องการในหน่วยงานถึงความจำเป็นในการใช้โปรแกรม ทำการตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อปลดโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานออกจากระบบ
2.จัดงบประมาณเพื่อจัดซื้อโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์นำมาติดตั้ง ซึ่งงบประมาณดังกล่าวต้องใช้เป็นจำนวนมาก ไม่อาจเสร็จสิ้นในทันทีในปีหนึ่งได้ จึงต้องดำเนินการเป็นช่วงเวลาโดยอาจจะตั้งเป็นแผนระยะยาว 3-5 ปี
3. การให้ความรู้ การสื่อสารทำความเข้าใจ รวมถึงข้อกฎหมาย กำหนดนโยบายด้านลิขสิทธิ์ที่เหมาะสมเร่งรัดการให้ความรู้แก่ครูผู้สอนและผู้เรียนให้เข้าใจว่าการใช้โปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่นำมาจากแหล่งอื่น ไม่ได้เป็นผู้ถือครองสิทธิ์ จึงไม่มีสิทธิ์ในการใช้ รวมถึงคัดลอกและการถ่ายโอนข้อมูล งาน หรือ ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีโอ ไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ หรืองานที่สร้างสรรค์ของบุคคลอื่นๆโดยไม่ได้รับอนุญาตถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และผิดกฎหมาย
4. กำหนดแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของเครือข่ายให้เป็นมาตรการของสถานศึกษา มีคณะทำงานตรวจสอบ(อย่างเป็นทางการ)เพื่อทำการตรวจสอบสิ่งที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษาทุกเครื่องเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิ การใช้โปรแกรมหรือซอฟแวร์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไฟล์เพลง ไฟล์วิดีโอ ไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ และงานสร้างสรรค์ประเภทอื่นๆ ที่มีลิขสิทธิ์ เพื่อดำเนินการถอนโปรแกรมและลบเนื้อหาหรือข้อมูลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกโดยปกติแล้ว เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่อบันทึกเสียงที่มีการจำหน่ายในปัจจุบัน อาทิ เช่น เทป, ซีดี, ดีวีดี รวมถึง การอนุญาตให้ดาวน์โหลดผ่านระบบออนไลน์นั้น ไม่เคยอนุญาตให้มีการคัดลอกสำเนาเพลง, ไม่เคยอนุญาตให้มีการจัดเก็บข้อมูล บนเครือข่ายออนไลน์ และไม่เคยอนุญาตให้มีการแจกจ่ายเพลงอันมีลิขสิทธิ์เหล่านั้นทางอินเทอร์เน็ต ยกเว้นจะดำเนินการโดยผ่านผู้ให้บริการทางดนตรี หรือเสียงเพลงที่ได้รับการรับรองโดยถูกต้องตามกฎหมาย หรือภายใต้สัญญาข้อตกลงที่ชัดเจนจากเจ้าของลิขสิทธิ์

ดังนั้น..... การทำซ้ำเพื่อส่วนตัว” “การใช้งานเพื่อการศึกษา” “การใช้งานตามข้อยกเว้นของกฎหมาย” “การทำสำเนาเพื่อการทดลองใช้หรือข้ออ้างอื่นใดดังกล่าว ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นการอนุญาตให้มีการจัดเก็บหรือส่งต่อเพลง หรือข้อมูลในสิ่งบันทึกเสียงที่จัดทำเพื่อจำหน่ายในทางการค้าผ่านระบบห้องสมุด หรือผ่านเครือข่ายของสถานศึกษาใดๆ

5. ศึกษาแนวทางการนำเทคโนโลยีเพื่อควบคุมการใช้ไฟล์ข้อมูลร่วมกัน (FILE-SHARING) ปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีใหม่ๆที่ออกมาจำหน่ายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการจัดการหรือป้องกันพฤติกรรมการใช้ไฟล์ข้อมูลร่วมกันที่ผิดกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะ การป้องกันการใช้โปรแกรมการแลกเปลี่ยนไฟล์โดยตรงโดยไม่ผ่านเซิร์ฟเวอร์กลาง (P2P) ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตการจำกัดการติดตั้งซอฟแวร์และกิจกรรมการใช้ไฟล์ร่วมกันที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ถูกต้องบนระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยนั้น เป็นแนวทางง่าย ๆ แนวทางหนึ่งในการลดปัญหาด้านลิขสิทธิ์และความปลอดภัย หยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ในวงกว้างก่อนที่จะเกิดการละเมิดขึ้น
      การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์คือการคัดลอกหรือแจกจ่ายซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการคัดลอก ดาวน์โหลด แลกเปลี่ยน ขาย หรือติดตั้งหลายสำเนาไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือที่ทำงาน สิ่งที่ผู้คนจำนวนมากไม่ได้ตระหนักหรือคาดคิดคือเมื่อคุณซื้อซอฟต์แวร์ จะหมายถึงคุณกำลังซื้อใบอนุญาตเพื่อใช้ซอฟต์แวร์ ไม่ใช่การซื้อซอฟต์แวร์จริง ใบอนุญาตจะบอกให้ผู้ซื้อทราบถึงจำนวนครั้งที่คุณสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์ได้ ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากที่จะต้องอ่าน หากผู้ซื้อคัดลอกซอฟต์แวร์มากกว่าที่ใบอนุญาตกำหนด นั่นหมายถึงผู้ซื้อกำลังทำผิดกฎหมาย
ปัจจุบันพบว่า อัตราการละเมิดสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล การล่วงละเมิดไปยังองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีอีตราแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าใน 20 อันดับของประเทศทั่วโลกของปี 2554  ยังคงไม่แตกต่างไปจากปี 2553 ซึ่งยังไม่ปรากฏมีประเทศไทยก็ตาม แต่จากการประเมินเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์ทางด้านซอฟท์แวร์อย่างเดียวโดย BSA* ประเทศไทยก็อยู่ในลำดับต้นๆของธุรกิจซอฟท์แวร์เถื่อน นอกจากนี้การบุกรุกเข้าเครือข่ายของภาครัฐและเอกชน เริ่มมี การเข้าถึงระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงาน ทั้งราชการต้องให้ความสำคัญต่อภัยร้ายในด้านนี้ โดยกำหนดลงในเกณฑ์การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ว่าด้วยส่วนราชการจะต้องมีระบบรองรับภาวะฉุกเฉินด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งได้ดำเนินการให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานในสังกัดของทุกกระทรวง ได้จัดทำแผนสำรองภาวะฉุกเฉินด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นประจำทุกปี อย่างต่อเนื่อง

หมายเหตุ
BSA : กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นสมาคมเพื่อการค้าที่ไม่หวังผลกำไร จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และพันธมิตรด้านฮาร์ดแวร์ เป็นองค์กรระดับแนวหน้าที่ทุ่มเทเพื่อส่งเสริมโลกดิจิตัลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอ มีสำนักงานใหญ่ในกรุงวอชิงตันดีซี ดำเนินงานในประเทศต่างๆ กว่า 80 แห่ง และมีเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน 11 แห่งทั่วโลก: บรัสเซลส์ ลอนดอน มิวนิค ปักกิ่ง เดลี จาการ์ตา กัวลาลัมเปอร์ ไทเป โตเกียว สิงคโปร์ และเซาเปาโล สมาชิกของ บีเอสเอ
ภารกิจทั่วโลกของ บีเอสเอ คือ การส่งเสริมสภาวะการทำงานเชิงกฎหมายในระยะยาว ซึ่งอุตสาหกรรมจะสามารถเติบโต และมีความเป็นเอกภาพให้แก่สมาชิกทั่วโลก โปรแกรมของ บีเอสเอ ส่งเสริมนวัตกรรม การเติบโต และการตลาดที่มีการแข่งขันสำหรับซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง สมาชิกของ บีเอสเอ มีความเชื่อมั่นในอนาคตของอุตสาหกรรม แต่เชื่อว่าอนาคตนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือบริษัทต่างๆ จะต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาที่มีผลเสียต่อนวัตกรรมศึกษาเพิ่มเติมที่ http://www.bsa.org/

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การศึกษาไทยพร้อมหรือยังกับการใช้ e-learning นำมาสนับสนุนการจัดการศึกษา


ในการสร้างฐานความรู้โดยอาศัยกระบวนการเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งในปัจจุบันนับได้ว่ามีความสำคัญ และมีความจำเป็นต่อวงการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่ง ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกลไกในการจัดการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ที่จะตอบสนองให้ผู้เรียนและประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างทั่วถึง มีความเสมอภาคและมีประสิทธิภาพที่เท่าเทียมกัน ที่สำคัญจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่จะนำพาไปสู่การสร้างสังคมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปัจจุบันระบบการจัดการศึกษาแบบ e-learning ได้รับการยอมรับว่าเป็นกลไกสำคัญอีกระบบหนึ่งที่มีคุณลักษณะในการสนับสนุน ส่งเสริม ประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างอิสระ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ได้อย่างรวดเร็วและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย นอกจากนี้ การจัดการศึกษารูปแบบ e-learning นี้ เป็นการสนองตอบแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นหลัก ผู้เรียนสามารถเข้าถึง ควบคุมกระบวนการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Self-Directed Learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และแก้ปัญหาได้อย่างอิสระ เป็นการเรียน รู้ในลักษณะผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered Learning) ด้วยวิธีการที่หลากหลายสนองต่อกลไกการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และสนับสนุนการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน เรียนรู้ได้ทุกเวลา เข้าถึงสาระเนื้อหาได้ในทุกสถานที่ (anyone-anywhere-anytime learning) โดยใช้กลไกของเทคโนโลยีสารสนเทศ

ในฐานะที่หน่วยงาน สถานศึกษา สังกัด กศน. มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมการจัดศึกษาให้กับกลุ่มคนที่หลากหลาย แต่ในการใช้ช่องทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศ นำมาเป็นช่องทางในการจัด และส่งเสริมการศึกษา อย่างเป็นรูปธรรมนั้น ดูเหมือนว่ายังทำได้ไม่เต็มที่นัก สถาบัน กศน.ภาคเหนือ ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ใช้ ICT เป็นฐาน เป็นช่องทาง การเรียนรู้ การฝึกอบรม มาโดยตลอด ทำให้เห็นว่าหลักสูตร เนื้อหาที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ การใช้งาน การเข้าถึงช่องทาง เส้นทางการศึกษา วิธีนี้ ก็ยังอยู่ในวงจำกัด

หากท่านมีแนวคิดในการจัดการศึกษา โดยใช้ช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน ทั้งในส่วนของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหา วิธีการ การเข้าถึง หรือแนวคิดอื่นๆ ขอได้โปรดช่วย เสนอแนะ เพื่อที่ทางคณะทำงาน การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ จะได้นำไปพัฒนา การจัดการศึกษาด้วยช่องทาง ICT ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รายงานผลการไปราชการที่ ม.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย


บันทึกข้อความ
ส่วนราชการ         งาน ICT ส่วนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา      สถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ที่  สท..๓๖..../๒๕๕๕               วันที่    ๒๐  เดือน  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  ๒๕๕๕
เรื่อง    รายงานผลการไปราชการที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
เรียน    ผู้อำนวยการสถาบัน กศน.ภาคเหนือ
ตามที่ส่วนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา โดยนายสุวัฒน์ ธรรมสุนทร งานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา(ICT)ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ กลยุทธ์การตลาดออนไลน์เพิ่มยอดขายด้วย Social Commerce” เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จัดโดย THNIC และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย  ซึ่งในการเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ มีเนื้อหาสาระ ที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษาออนไลน์ อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยน ความคิดเห็น รวมถึงประสานความร่วมมือ บังเกิดผลดีต่อสถาบัน กศน.ภาคเหนือ  ในหลายๆด้าน ซึ่งขอสรุปผลการไปราชการ ดังนี้
  1. ได้แนวคิดและวิธีการในการนำเทคนิคด้านการบริหารจัดการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายในภาคธุรกิจ นำมาประยุกต์ ใช้ในการเพิ่มมูลค่าของหลักสูตร หรือสาระเนื้อหา รวมถึงกลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ การดำเนินกิจกรรมทางการศึกษา รวมถึงหลักสูตร สาระ เนื้อหา ต่างๆ ที่สถาบัน กศน.ภาคเหนือ และเครือข่ายพัฒนาขึ้น
  2. ได้แนวทางในการนำ Social Network มาเสริมประสิทธิภาพทั้งในส่วนการประชาสัมพันธ์ การใช้เทคนิควิธีการบนสังคมออนไลน์ ผ่าน Application ต่างๆ นำมาสนับสนุนกระบวนการจัดการศึกษาผ่านระบบเครือข่าย รวมถึงการ monitor ติดตามความต้องการของผู้เรียนทั้งที่เป็นครู และประชาชนที่ถือเป็นผู้เรียนรู้ ที่เข้ามาเป็นสมาชิก
  3. จากการที่ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับคณะวิทยากร จาก THNIC (หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม ดูแล และบริหารจัดการ Domain Name ภายใต้ .th ในประเทศไทย ซึ่ง .ac.th ก็เป็นกลุ่ม Domain Name ที่ต้องผ่านการบริหารจัดการจาก THNIC) โดยจะขอรับการสนับสนุนจาก THNIC ในการเป็นวิทยากรให้ความรู้ถึงความสำคัญในการมีเว็บไซต์ประจำ รวมถึงมาให้บริการพิจารณากำหนดชื่อ และรับลงทะเบียนเพื่อการเป็นเจ้าของชื่อ Domain Name(ชื่อเว็บไซต์ของสถานศึกษา) รวมถึงจะเป็นตัวกลางในการประสานผู้ให้บริการ host สำหรับรับฝากข้อมูลเว็บไซต์ในราคาถูกอีกด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นให้สถานศึกษาในแต่ละอำเภอ มีเว็บไซต์สถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น อันจะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการประชาสัมพันธ์ และนำไปสู่การพัฒนาฐานการเรียนรู้ในพื้นที่ ที่รับผิดชอบ ในอนาคตด้วย
  4. จากการที่ Social Network และ Mobile Device ได้มีอิทธิพลต่อสังคมในมิติต่างๆ ส่งผลให้การศึกษาต้องปรับและแปรเปลี่ยนไปตามวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยี เพื่อเสริมช่องทางในการจัดการศึกษาและเรียนรู้ด้วยช่องทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารสถานศึกษาระดับอำเภอ ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหาร การดำเนินการจัดการศึกษาในพื้นที่ จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน Social Network และ Mobile Device (Mobile Phone และ Tablet PC) อย่างสมบูรณ์แบบเต็มประสิทธิภาพของ Mobile Device ข้าพเจ้าจึงได้ประสานและขอความร่วมมือทางวิชาการจากทีมวิทยากรในการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การใช้งานอินเทอร์เน็ตเบื้องต้นผ่าน Mobile Device"  โดยมีสาระที่ผู้เข้ารับการอบรมควรจะได้รับความรู้ ได้แก่ วิธีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านมือถือด้วยGPRS, EDGE, G และ WIFI วิธีการตั้งค่าเชื่อมต่อ, ลักษณะการใช้งานแต่ละแบบ และปัญหาที่พบ  การค้นหาข้อมูล (SEARCH ENGINE, WEBBOARD) EMAIL (การสื่อสารทางไกล, การขอข้อมูลจากผู้เชียวชาญ, การส่งภาพ เสียง เป็นต้น) การใช้ VOIP (โทรศัพท์ทางไกลในราคาถูก, โทรศัพท์ต่างประเทศในราคาถูก, โทรศัพท์แบบเห็นหน้า, การประชุมทางไกล)  การใช้ SOCIAL NETWORK – FACEBOOK และ TWITTER เป็นต้น

ผลจากการเข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ กลยุทธ์การตลาดออนไลน์เพิ่มยอดขายด้วย Social Commerce” ตามรายละเอียดโดยสรุปในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ งานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา(ICT) ส่วนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะนำไปพัฒนากระบวนการจัดการศึกษา และนำมาถ่ายทอดให้กับครู ผู้สนใจของสถาบัน กศน.ภาคเหนือ ได้ใช้เป็นแนวทางในการสร้างสาระเนื้อหาการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป  สำหรับข้อที่ ๓ และข้อที่ ๔ จากการประสานเบื้องต้นนั้น ทาง THNIC จะนำแผนการดำเนินการพัฒนาบุคลากร ที่ทาง สถาบัน กศน.ภาคเหนือมีความประสงค์ต้องการนี้ เข้าโครงการ ทีเอชนิคใกล้ชิดชุมชน  เพื่อสนับสนุน และร่วมดำเนินการพัฒนาบุคคลากรให้สถาบัน กศน.ภาคเหนือ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่ขอให้ทางสถาบัน กศน.ภาคเหนือ แจ้งและยืนยัน วัน เวลา ที่จะดำเนินการโดยด่วน(จำนวน ไม่เกิน ๕๐ คน เนื่องจากเป็นการอบรมและเรียนรู้ด้วยการฝึกปฏิบัติจริง THNIC จะต้องเตรียมคณะวิทยากร มาให้การสนับสนุน)  เพื่อที่ทาง THNIC จะได้กำหนดในแผนบริหารการใช้งบประมาณการดำเนินการในปี ๒๕๕๕ เพิ่มเติม  หากท่านเห็นว่า จะบังเกิดผลดีต่อสถาบัน กศน.ภาคเหนือ รวมถึงหน่วยงานสถานศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาใน ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ อันเป็นกระบวนการสนับสนุนด้านวิชาการให้กับหน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ ๑๗ ภาคเหนือ  งานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการศึกษา(ICT) ส่วนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา จะขออนุญาตดำเนินการ ดังนี้
1.     ทำใบสมัครขอรับการเข้าอบรม โดยแจ้งไปยังสถานศึกษา ใน ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ
2.     เพื่อให้การดำเนินนี้เป็นการดำเนินการทางวิชาการและมีความพร้อมสูงสุด  งาน ICT จะดำเนินการประสานกับ THNIC ในรายละเอียดของหลักสูตรให้ชัดเจนอีกครั้ง
3.     ขอความเห็นชอบ และประสานแผนช่วงเวลา  เพื่อกำหนด วัน และเวลา โดยการอบรม ปฏิบัติการทั้ง ๒ เนื้อหาจะใช้เวลา ๒ วัน  (การอบรมปฏิบัติการทั้ง ๒ เนื้อหาจะใช้ช่วงเวลาพร้อมกัน โดย รายการข้อ ๓ จะใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ส่วนรายการในข้อที่ ๔ จะใช้เวลา ไม่น้อยกว่า ๖ ชั่วโมง)
4.     แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมดำเนินการพัฒนาบุคลากรให้กับผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่าย และผู้เกี่ยวข้อง

           จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา